top of page

ส.อ.ท. และกนอ. ร่วมส่งเสริมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ



สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมมือกันพัฒนามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) มาตั้งแต่ปี 2560 และต่อยอดพัฒนามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory For Waste Processor) ขึ้นในปี 2565 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และรับรองผู้ประกอบกิจการโรงงานประเภท 101, 105 และ 106 ให้มีการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน สอดรับกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG Model ของรัฐบาล

Eco Factory คือแนวคิดของโรงงานที่ยึดมั่นในการดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม 5 มิติ 14 ประเด็นการพัฒนา เพื่อเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ บนพื้นฐานของ การปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero Emission), มีส่วนร่วมเกื้อกูลกับสังคมโดยรอบ (Symbiosis with Community), มีกิจกรรมการดำเนินการผลิตที่น่าเชื่อถือ (Reliable Production Activities), ,มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี (Well-managed Environment Management System), และ มีการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource and Energy Efficiency) โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะรับรองผู้ประกอบการจัดการของเสียให้ได้ตามมาตรฐานมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสียครบ 100% ภายในปี 2568


และเพื่อสนับสนุนมาตรฐานดังกล่าว กนอ. ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor อย่างน้อยระดับพื้นฐาน (Beginner) และมอบสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory ) หรือ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับ 3 ขึ้นไป โดยจะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าบริการคำขอด้านการใช้ที่ดินและประกอบกิจการ และด้านสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นในการส่งของเสียไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักการจนจบสิ้นกระบวนการ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหากับชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามมาภายหลัง


ในปัจจุบัน มีการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐาน Eco Factory จำนวน 388 แห่ง และมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor จำนวน 9 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมอีกจำนวน 18 แห่ง


นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนของเสีย (Circular Material Hub) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและผลิตภัณฑ์พลอยได้ ด้วยแนวคิดการเปลี่ยน Waste จากอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปเป็นวัตถุดิบให้อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง เพื่อยกระดับการจัดการอีกด้วย



อ้างอิง

bottom of page