top of page

สำนักงาน กกพ. ประกาศยกเลิก 31 โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2


สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประกาศยกเลิก 31 ที่จะดำเนินการโดย 24 หน่วยงาน ในโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 เนื่องจากปริมาณกำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าสำหรับการทดสอบซื้อขายไฟฟ้าสูงเกินกว่าที่ภาครัฐกำหนด และเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วม “โครงการ ERC Sandbox (เพิ่มเติม)” โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 1 ปี


โครงการ ERC Sandbox เป็นการทดสอบนวัตกรรมร่วมกันระหว่าง สำนักงาน กกพ. และผู้เข้าร่วมโครงการ โดยจะเน้นการทดสอบรูปแบบธุรกิจ นวัตกรรม ระบบ หรือบริการด้านพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการให้บริการทางพลังงาน

สำนักงาน กกพ. เปิดตัวโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 1 เมื่อปี 2562 โดยมี 34 โครงการผ่านการคัดเลือก และในปี 2565 สำนักงาน กกพ. ได้เปิดตัวโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 โดยมี 36 โครงการได้รับการคัดเลือก แต่เนื่องจากปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งตามที่ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเสนอเพื่อทดสอบการซื้อขายไฟฟ้ามีปริมาณเกินกว่าที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ สำนักงาน กกพ. จึงต้องประกาศยกเลิกรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 จำนวน 31 โครงการ พร้อมกับออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วม “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน หรือ ERC Sandbox (เพิ่มเติม)” ในเดือนกันยายน 2566


โครงการ ERC Sandbox (เพิ่มเติม) กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 1 ปี และหากโครงการมีการดำเนินการทดสอบการซื้อขายไฟฟ้า สามารถดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน และต้องไม่ได้รับผลกำไรในเชิงการค้าจากการดำเนินโครงการด้วย ทั้งนี้โครงการ ERC Sandbox (เพิ่มเติม) จะถูกใช้ทดสอบใน 5 ด้าน เช่น

  1. การทดสอบเพิ่มเติมจากโครงการที่ดำเนินการภายใต้ ERC Sandbox ระยะที่ 1

  2. การทดสอบแพลตฟอร์มการให้บริการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือ คาร์บอนเครดิต หรือใบรับรองสิทธิการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

  3. การทดสอบนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบสมาร์ทกริด หรือ การเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงข่ายไฟฟ้า หรือทดสอบเพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจซื้อขายพลังงานรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงทดสอบกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับบุคคลที่สาม และการกำหนดอัตราค่าบริการที่เกี่ยวข้อง

  4. การทดสอบการใช้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆ เช่น Virtual PPA, Sleeved PPA เป็นต้น

  5. การทดสอบรูปแบบที่เป็นประโยชน์ในการกำกับดูแลนวัตกรรมพลังงานในด้าน Green Innovation, Green Regulation




bottom of page