top of page

กรุงเทพฯ ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช 1,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาขยะ


วันที่ 27 มีนาคม 2567 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์และยกเสาเอก โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช 1,000 ตัน พร้อมด้วย นางสาวจาง เซียวเซียว ทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประธานชุมชนต่างๆ ร่วมเป็นเกียรติในงานพิธี ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร [1]


รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน หรือขนาดในการออกแบบ 1,600 ตันต่อวัน ปริมาณมูลฝอยที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บได้มีปริมาณมากกว่า 10,000 ตันต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต กรุงเทพมหานครจึงตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อจะเป็นการลดขยะมูลฝอยที่จะนำไปฝังกลบ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านการกำจัดมูลฝอย (Private Public Partnership)


ด้านบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ลงทุน กล่าวว่า โครงการนี้จะใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะ โดยขยะมูลฝอยจะถูกเผาภายใต้อุณหภูมิสูงประมาณ 1,000 ± 50 องศาเซลเซียส ซึ่งถูกควบคุมอัตโนมัติโดยระบบคอมพิวเตอร์ สภาวะและระยะเวลาของการเผาไหม้ขยะมูลฝอยในเตาเผาสามารถตรวจสอบและปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถควบคุมการเผามูลฝอยได้ตลอดเวลาและเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียความร้อน ก๊าซซึ่งมีอุณหภูมิสูงที่เกิดในเตาเผาสามารถนํามาเปลี่ยนสภาพเป็นไอร้อน เพื่อนำไปขับเคลื่อนเครื่องปั่นไฟฟ้า เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าได้


ก๊าซที่ได้จากการเผาไหม้จะถูกบำบัดด้วยอุปกรณ์บําบัดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งปูนขาว ผงถ่าน และสารอื่น ๆ เพื่อดูดซับมลสาร ทำให้อากาศที่ปล่อยออกมาได้มาตรฐาน ส่วนน้ำเสียจากกองขยะจะได้รับการบําบัดโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนได้อีก นอกจากนี้ขยะมูลฝอยที่กำจัดในเตาเผาจะเหลือน้ำหนักเพียงแค่ 15-20% ภายหลังจากการเผา ซึ่งสามารถนําเถ้าที่เกิดขึ้นบางส่วนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย


ด้านประโยชน์โครงการฯ ได้แก่ 1.ช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็นรบกวน ที่เป็นปัญหาสำคัญจากกิจการกำจัดมูลฝอย เนื่องจากระบบเตาเผามูลฝอยเป็นเทคโนโลยีจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพสูงและมีรูปแบบการจัดการในระบบปิด, 2.ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ ในการกำจัดมูลฝอยในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง, 3.ชุมชนและภาครัฐได้รับผลประโยชน์จากผลพลอยได้ ที่เกิดขึ้นจากการกำจัดมูลฝอยในรูปของพลังงานไฟฟ้า และ 4.ลดปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัย อันเนื่องมาจากมลพิษจากการกำจัดมูลฝอยอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ [2]

 

 

อ้างอิง:

bottom of page