top of page
Punisa K.

เอกชนรายใหญ่แห่ติดต่อ กกพ. เตรียมซื้อไฟฟ้าสีเขียวแบบ UGT 1 ปลายปี 2567


นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการไฟฟ้าสีเขียวว่า กกพ. ได้จัดทำอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) ซึ่งแบ่งเป็น UGT 1 คือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไม่เจาะจงโรงไฟฟ้าในการขอรับบริการ (ไม่ระบุรายชื่อโรงไฟฟ้า) และ UGT 2 คือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบเจาะจงแหล่งที่มา (ระบุรายชื่อโรงไฟฟ้า) และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนไปเมื่อเดือน มกราคม 2567 โดยหลังจากนั้นได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเริ่มซื้อไฟฟ้าสีเขียวประเภท UGT 1 ได้


ล่าสุดมีผู้ประกอบการที่สนใจใช้ไฟฟ้าสีเขียวได้เข้ามาหารือกับ กกพ. มากกว่า 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ประกอบธุรกิจด้าน Data Center ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และนอกเขต EEC


ในขณะนี้ การไฟฟ้าแต่ละแห่งยังไม่ได้ออกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ให้กับผู้ซื้อไฟฟ้ารายใด แต่คาดว่าปลายปี 2567 นี้จะเริ่มเกิดการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียว UGT 1 ได้จริง


UGT 1 ประกอบด้วยค่าไฟฟ้าปกติ (ค่าไฟฟ้าฐานรวมกับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft) บวกค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) 0.0594 บาทต่อหน่วย โดยค่า Premium 0.0594 บาทต่อหน่วย มาจากราคาตลาดของใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) 0.0500 บาท และค่าบริหารจัดการ 0.0094 บาท

ส่วนแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียว ประเภท UGT 1 คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 7 โรง ปริมาณการผลิต 1,300-3,500 กิกะวัตต์ต่อปี โดยผู้มีสิทธิ์ซื้อไฟฟ้าคือ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3, 4 ,5 หรือ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกิจการขนาดกลาง โดยสัญญาซื้อไฟฟ้ามีอายุ 1 ปี


ส่วน UGT 2 แบ่งเป็นกลุ่ม A และ B  โดยกลุ่ม A เป็นค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในปี พ.ศ. 2568-2570 ในอัตรา 4.5622 บาทต่อหน่วย และกลุ่ม B เป็นค่าไฟฟ้าที่ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ COD ระหว่างปี 2571-2573 ในอัตรา 4.5475 บาทต่อหน่วย


สำหรับแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียว UGT 2 คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าใน “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” ปริมาณการผลิตกลุ่ม A อยู่ที่ 2,386 เมกะวัตต์ และกลุ่ม B อยู่ที่ 2,466 เมกะวัตต์ โดยผู้มีสิทธิ์ซื้อไฟฟ้าคือ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 4, 5 หรือ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยสัญญาซื้อไฟฟ้ามีอายุ 10 ปี อย่างไรก็ตามการซื้อไฟฟ้าสีเขียวดังกล่าวผู้ซื้อจะได้รับใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ที่ออกโดยการไฟฟ้า


ทั้งนี้การซื้อไฟฟ้าแบบ UGT 2 จะเกิดขึ้นต่อเมื่อโรงไฟฟ้าสีเขียวใน “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” ที่ กกพ. เคยเปิดรับซื้อไว้ทั้งสิ้น 4,852.26 เมกะวัตต์ เริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบก่อนเท่านั้น โดยกลุ่มแรกจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2568  และกลุ่มที่ 2 ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป

 

 

Comments


bottom of page