top of page

เชียงใหม่ประชุมแก้ไขปัญหาขยะ ชี้แจงโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ก่อสร้าง 2 ปี และจ่ายไฟกลางปี 2569


วันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ในพื้นที่การรวมกลุ่มจัดการขยะมูลฝอย (คลัสเตอร์) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.) โดยมีรองนายกอบจ.เชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักช่าง อบจ.เชียงใหม่ พร้อมผู้บริหารท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน ในที่ประชุมมีการชี้แจงข้อมูลและหารือดังนี้


จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ครอบคลุม 25 อำเภอ มีประชากร 1.8 ล้านคน และประชากรแฝงอีก 2 ล้านคนรวม 3.8 ล้านคน มีอัตราการเกิดขยะเฉลี่ย 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด 2,000 ตันต่อวัน (ไม่นับรวมประชากรแฝง) ปัจจุบันมีการคัดแยกขยะออกเป็น ขยะอินทรีย์ 30% ขยะรีไซเคิล 17% ขยะทั่วไป 50% และขยะอันตรายหรือขยะติดเชื้ออีก 3%


กระทรวงมหาดไทยมีการส่งเสริมการคัดแยกขยะอินทรีย์ในทุกครัวเรือน ผ่านโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน เพื่อลดปริมาณขยะอินทรีย์ และมีการส่งเสริมธนาคารขยะรีไซเคิล ที่จะช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และเป็นไปตามนโยบายรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และหลักการ 3Rs (ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่) ภายใต้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดสำหรับการลักลอบนำขยะจากนอกพื้นที่มาทิ้ง


อบจ.เชียงใหม่เป็นหนึ่งในเจ้าภาพคลัสเตอร์ของจังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกในคลัสเตอร์ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 106 แห่ง จาก 10 อำเภอ โดยปัจจุบัน อบจ.เชียงใหม่ได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ อปท. 63 แห่ง จาก 106 แห่ง เพื่อนำขยะมากำจัดที่สถานที่ฝังกลบของอบจ. ตั้งอยู่ที่ อำเภอดอยสะเก็ด มีปริมาณขยะที่ต้องกำจัด เฉลี่ย 250 ตันต่อวัน สถานที่ฝังกลบของอบจ.เชียงใหม่ มีเนื้อที่ทั้งหมด 160 ไร่ มีบ่อกำจัด 4 บ่อ อบจ. คิดค่ากำจัดขยะ 500 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าสถานที่กำจัดของเอกชนที่ตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด ที่คิดค่าบริการกำจัดขยะ 1,000 บาทต่อตัน


ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา สถานที่กำจัดขยะของอบจ. รองรับขยะเพิ่มขึ้นจากวันละ 250 ตัน เป็น 350-400 ตัน ซึ่งคาดว่าในอนาคตหลุมฝังกลบมีแนวโน้มที่จะเต็มความจุ


ดังนั้น อบจ. จึงได้พัฒนาโครงการโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะ ขนาด 8 เมกะวัตต์ ซึ่งได้คัดเลือกบริษัทเอกชนที่จะมาเป็นผู้ผู้บริหารจัดการแล้ว โครงการจะเริ่มก่อสร้างกรกฎาคมนี้ ทดสอบระบบปลายปี 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2569 รวม 2 ปี โครงการจะขายไฟให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กลางปี 2569


Commentaires


bottom of page