top of page

สนพ. เตรียมเสนอ 5 นโยบายพลังงาน ต่อรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา



สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมเสนอ 5 นโยบายด้านพลังงานต่อรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา ทั้งการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันรองรับมาตรฐานยูโร 5 ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2567, แนวทางการเป็น LNG Hub ในภูมิภาคอาเซียน ,การส่งเสริมการใช้รถ EV, การส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจน และใบรับรองการซื้อไฟฟ้าสีเขียว หวังช่วยให้ไทยลดปัญหามลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ


นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. เปิดเผยว่า สนพ. เตรียม 5 นโยบายด้านพลังงาน เพื่อเตรียมเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา ได้แก่


1. โครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรองรับน้ำมันที่มีคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5

เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้น้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศไทยต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานยุโรป 5 หรือ ยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ดังนั้น สนพ. จึงได้ทำการศึกษาโครงสร้างราคาน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 รวมทั้งค่าการตลาดและต้นทุนต่าง ๆ โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จปลายปี 2566 เพื่อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ก่อน 1 ม.ค. 2567


2. โครงการจัดทำแนวทางการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายและขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (Regional LNG Hub)

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการซื้อขาย LNG กับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว สนพ. จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาให้ไทยเป็น LNG Hub ในภูมิภาคอาเซียน โดย สนพ. กำลังศึกษาแนวทางการเป็น LNG Hub ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ไทยควรเริ่มดำเนินการจากระดับกระบวนการขนส่ง LNG (LNG Logistic) ก่อน


3. การส่งเสริมด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายในปี ค.ศ.2030 จะต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า (ปั๊มชาร์จ) แบบชาร์จเร็ว ในสัดส่วน 5% หรือประมาณ 2,000-4,000 สถานี โดยกระทรวงฯ จะศึกษาความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อรองรับรถ EV ที่คาดว่าในอีก 5-6 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีคไฟฟ้า) ช่วงกลางคืน จากการชาร์จรถ EV ที่บ้าน


4. นโยบายการส่งเสริมไฮโดรเจนของประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ Carbon Neutrality

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สนพ. ได้ทำการศึกษารูปแบบไฮโดรเจนเพื่อนำมาใช้จริง ในกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มโรงงานที่ใช้ความร้อน และภาคขนส่ง เบื้องต้นเห็นว่าไทยควรใช้ระบบนำก๊าซธรรมชาติมาแยกออกซิเจนเพื่อให้ได้ไฮโดรเจน โดยคาดว่าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศฉบับใหม่จะมีสัดส่วนไฮโดรเจนเพื่อผลิตไฟฟ้า 20% จากเชื้อเพลิงทั้งหมด เบื้องต้นจะให้ภาครัฐเป็นผู้นำร่องกระบวนการเพื่อให้เกิดการใช้เชิงพาณิชย์ก่อน จากนั้นจะส่งเสริมภาคเอกชนต่อไป


5. นโยบายเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กลไก ใบรับรองแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) สำหรับประเทศไทย

ตามแผนพลังงานแห่งชาติ จะบรรจุการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มากขึ้น โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะได้รับใบรับรองเพื่อใช้ยืนยันทางการค้าว่าได้ผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และป้องกันการกีดกันทางการค้าในอนาคต โดยตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จะต้องมีการพัฒนาระบบติดตามและกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรม RECs ให้สมบูรณ์, ประกาศใช้มาตรฐานการรับรอง RECs ของไทยและปรับปรุงแนวทางการซื้อไฟฟ้าสีเขียว เป็นต้น


Comments


bottom of page