top of page
Punisa K.

กระทรวงพลังงานเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง PDP 2024 เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 51%



วันที่ 12 มิถุนายน 2567 กระทรวงพลังงานจัดเวทีงานรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024)” และ “ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024) โดยเป็นการเปิดรับฟังความเห็นจากจากกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจ

 

ร่างแผน PDP 2024 ได้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศช่วงปลายแผนในปี 2580 อยู่ที่ 56,133 เมกะวัตต์ และได้วางแผนจัดหาไฟฟ้าใหม่อีก 77,407 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา (ณ เดือน ธ.ค. 2566) อยู่ที่ 53,868 เมกะวัตต์ และในระยะยาวจะมีกำลังผลิตที่หมดอายุและถูกปลดออกจากระบบ 18,884 เมกะวัตต์ ดังนั้นช่วงปลายแผนปี 2580 ประเทศไทยจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งสิ้น 112,391 เมกะวัตต์

 

แผนการจัดหาไฟฟ้าใหม่จำนวน 77,407 เมกะวัตต์ จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่

  1. กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 47,251 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ และอื่น ๆ (DR, V2G) 2,000 เมกะวัตต์

  2. กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง 12,957 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์

  3. กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาข้อผูกพันไปแล้ว 17,199 เมกะวัตต์

 

สำหรับกำลังการผลิตใหม่จากพลังงานหมุนเวียน ทั้งหมด 34,851 เมกะวัตต์ จะมาจาก พลังงานแสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์, พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์, ชีวมวล 1,045 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์, ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์, พลังน้ำขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ และความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์ ทำให้สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนโดยรวมเป็น 51% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพียง 36%

 

นอกจากนี้ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน PDP 2024 จะอยู่ที่ 3.8704 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่า PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 3.9479 บาทต่อหน่วย (หากใช้สมมติฐานเดียวกันมาคำนวณ)

 

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ สำหรับกำลังการผลิตใหม่จำนวน 2,681 เมกะวัตต์ แต่ในอนาคตหากการผลิตไฟฟ้าแบบทุ่นลอยน้ำมีศักยภาพในการผลิตมากขึ้น อาจขยับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำหนดไว้ 24,412 เมกะวัตต์ มาให้พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำแทนก็ได้

 

สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ปี 2567-2580 ที่ กฟผ. จะเป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 3 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2571, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 5 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2573, โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 3 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปี 2577, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 6 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปี 2578, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 4 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2579

 

นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนจุฬาภรณ์ 801 เมกะวัตต์ ปี 2577, โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนวชิราลงกรณ 891 เมกะวัตต์ ปี 2579 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนกระทูน 780 เมกะวัตต์ ปี 2580 รวมทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) รวม 600 เมกะวัตต์ ในปี 2580 ที่มีแนวโน้มว่า กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการผลิตด้วย เนื่องจากมีศักยภาพที่สามารถทำได้ ซึ่งรวมแล้ว กฟผ. จะได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ ปี 2567-2580 รวมประมาณ 6,572 เมกะวัตต์ 

 

ส่วนด้านร่าง Gas Plan 2024 ได้ระบุความต้องการก๊าซธรรมชาติในช่วงปี 2567-2580 อยู่ที่ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะมีการจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งที่มีศักยภาพในอ่าวไทยและเมียนมาเพิ่มขึ้น ทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลดลง ทั้งนี้ไม่ได้นำก๊าซฯ จากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) มาพิจารณา เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน

 

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ร่างแผน PDP 2024 ยังไม่ได้ตัดแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีของ กฟผ. ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในแผน PDP 2018 และร่างแผน PDP 2024 แต่จะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมต่อไป เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุนก่อสร้างที่สูง เพราะต้องมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ ระยะทางยาวกว่า 100 เมตร เพื่อรองรับการจัดส่งก๊าซฯ ป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า และยังต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนว่า จะสร้างคลังรับ-จ่ายก๊าซฯ หรือจะเป็นลักษณะของคลังลอยน้ำ (FSRU) เพราะอาจมีเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา



Comments


bottom of page