จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “สำนักงาน กกพ.”) ได้ออกประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกใน “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “โครงการฯ”) รอบแรก รวมทั้งสิ้น 175 ราย รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,852.26 เมกะวัตต์ ไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 นั้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนภายใต้โครงการฯ รอบที่ 2 อีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย
พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 2,632 เมกะวัตต์
พลังงานลม จำนวน 1,000 เมกะวัตต์
ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.5 เมกะวัตต์
ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ คาดว่าในรอบที่ 2 จะเปิดรับซื้อในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2566 ภายหลังจากโครงการฯ รอบแรก ทยอยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในช่วงเดือน มิ.ย. 2566 และคาดว่าจะเปิดสำหรับโครงการที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกให้ยื่นเข้ามาได้อีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าห้ามย้ายที่ตั้งของโรงไฟฟ้า [1]
กกพ. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการสำคัญของการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ "รอบขยายการรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่ 1" (รอบที่ 2) ระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน 2566 โดยแบ่งการรับซื้อเป็น 2 ส่วน ดังนี้
(1) กกพ. จะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก โดยให้พิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ 1) พลังงานลม มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ และ 2) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์
สำหรับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นรายสุดท้ายภายใต้ระเบียบกกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง และยินยอมปรับลดปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่ให้เกินกว่ากรอบเป้าหมายที่คงเหลือนั้น ให้ กกพ. สามารถปรับเพิ่มปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายให้กับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารายดังกล่าวได้ไม่เกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามคำเสนอขายไฟฟ้าเดิม ถ้าหากโครงข่ายระบบไฟฟ้ามีศักยภาพที่สามารถรองรับได้
(2) กกพ. จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือหลังหักปริมาณที่ได้รับซื้อไปแล้วในข้อ (1) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) หรือไม่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือไม่ได้รับการคัดเลือกในการรับซื้อตามข้อ (1) สามารถปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้ยื่นไว้แล้วให้ครบถ้วนได้ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กกพ.กำหนด ทั้งนี้ จะพิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ 1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 2) พลังงานลม 3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ 4) ขยะอุตสาหกรรม
สำหรับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ภายใต้ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สามารถเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนที่เหลือนี้ได้ [2]
นอกจากนี้ สำหรับความคืบหน้าโครงการฯ ในรอบแรก การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ได้ส่งหนังสือไปยังผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด โดยสำนักงาน กกพ. ได้ชี้แจงว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องลงนามยอมรับเงื่อนไขของการไฟฟ้าภายในวันที่ 19 เม.ย. 2566 เพื่อเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจึงจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ต่อไป โดยผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ปี 2567-2568 ต้องลงนาม PPA ภายใน 180 วัน ส่วนผู้ที่จะ COD ระหว่างปี 2569-2573 จะต้องลงนาม PPA ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ลงนามยอมรับเงื่อนไขของการไฟฟ้า [3]
อ้างอิง:
Comments