NECTEC พัฒนา “Acamp” แพลตฟอร์มการบริหารจัดการคาร์บอนแบบอัตโนมัติ
- Kanokwan Olanrungreang
- Apr 8
- 1 min read

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เปิดเผยว่าได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ‘Acamp (Automated Carbon Accounting Management Platform)’ สำหรับคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) แบบอัตโนมัติและติดตามผลแบบเรียลไทม์
โดย Acamp เป็นระบบที่ปรับแต่งสูตรการคำนวณ และค่า EF ให้สอดคล้องกับค่าที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กำหนด ณ ขณะนั้นได้โดยอัตโนมัติ ทำให้การคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นไปตามค่า EF ที่อัปเดตเสมอ นอกจากนี้การจัดเก็บ วิเคราะห์ และคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของระบบยังเป็นไปตาม ISO 14064-1 ทำให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลไปใช้ยื่นเพื่อการทำการค้ากับต่างประเทศได้ทันที
โดยการนำเข้าข้อมูลของ Acamp แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ
ข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้า จะจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ โดย Edge computer ที่เรียกว่า ‘ZCARBON’ และทำการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้าทันที ก่อนจะส่งข้อมูลไปยังระบบ คลาวด์ เพื่อนำไปใช้คำนวณค่า CFO ขององค์กรต่อไป
ข้อมูลจากระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) เช่น ข้อมูลชนิด และปริมาณ วัตถุดิบ เชื้อเพลิง และข้อมูลการนำทรัพยากรไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ จะถูกเชื่อมโยงกับระบบคลาวด์ เพื่อนำไปใช้คำนวณค่า CFO ขององค์กรต่อไป
ข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการคำนวณค่า CFO ซึ่งผู้ประกอบการสามารถส่งข้อมูลเข้าสู่ Acamp โดยตรงผ่านหน้าเว็บแอปพลิเคชัน
เมื่อนำเข้าข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว Acamp จะนำข้อมูลบนระบบคลาวด์ และข้อมูลที่ส่งเข้ามา ข้อมูล CFO ขององค์กรให้โดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงผลข้อมูลการคำนวณในรูปแบบแดชบอร์ดที่เข้าใจง่าย สะดวกต่อการรายงานค่า CFO และการนำข้อมูลไปใช้วางแผนปรับปรุงการทำงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน [1]
Acamp เปิดตัวครั้งแรกในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ประจำปี 2567 (NECTEC Annual Conference & Exhibitions 2024) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ในฐานะโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดย เนคเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร [2][3] โดย Acamp จะเปิดให้บริการผ่านแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform: IDA Platform) ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูลระบบภายในโรงงาน ผ่านเซนเซอร์และ IoT (Internet of Things) มุ่งพัฒนาไทยสู่ Industry 4.0 [4]
อ้างอิง:
หมายเหตุ ISO 14064 เป็นชุดมาตรฐานสากลที่กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการวัด การจัดการ และรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ขององค์กร ประกอบด้วยสามส่วน โดยแต่ละส่วนมีจุดเน้นทางเทคนิคที่แตกต่างกัน ISO 14064 ส่วนที่ 1 (ISO 14064-1) แสดงข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนดและคำแนะนำในการวัดปริมาณและการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร รวมถึงการออกแบบ พัฒนา จัดการ จัดทำรายงาน และการตรวจสอบรายการก๊าซเรือนกระจกขององค์กร