วันที่ 8 มิ.ย. 2566 องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจากสามประเทศได้แก่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) จากประเทศไทย, เครือข่าย Basel Action Network (BAN) จากสหรัฐอเมริกา, และสมาคมอาร์นิก้า จากสาธารณรัฐเช็ก ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเคารพข้อบังคับของภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลฯ (The Basel Ban Amendment) และยับยั้งการส่งออกของเสียอันตรายมายังประเทศไทย (ประเทศในกลุ่ม Non-Annex VII) โดยทันที หลังมีรายงานว่าภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566
ซึ่งข้อบทดังกล่าวกำหนดว่า ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สหภาพยุโรป (EU) และลิกเตนสไตน์ ต้องยกเลิกการส่งออกของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ มายังประเทศที่ให้สัตยาบันแก่ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล ดังนั้น กล่าวได้ว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยต้องห้ามนำเข้าของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลจากกลุ่มประเทศข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยเด็ดขาด
คุณปุณญธร จึงสมาน ตัวแทนมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะนำเข้า และก้าวต่อไปที่สำคัญไม่แพ้กันคือรัฐบาลไทยควรออกออกกฎหมายห้ามนำเข้าของเสียอันตรายในระดับประเทศ ที่ครอบคลุมทั้งของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลและของเสียที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในภาคผนวก 2 ซึ่งจะรวมไปถึงขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายประเภทที่สำคัญ ภายใต้ข้อบังคับเรื่องการนำเข้าของเสียที่เข้มงวดขึ้น
อนุสัญญาบาเซลฯ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของของเสียอันตราย จัดตั้งขึ้นและเปิดให้ลงนามครั้งแรกเมื่อปี 2532 โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซลฯ ตั้งแต่ปี 2540
ในเบื้องต้นนั้นไม่ได้มีข้อบังคับให้ยกเลิกการส่งออกหรือนำเข้าของเสียใด ๆ แต่ต่อมากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกขยะของประเทศพัฒนาแล้ว ได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขอนุสัญญาฯ ให้มีข้อกำหนดว่า ประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ กลุ่มประเทศ OECD สหภาพยุโรป และลิกเตนสไตน์ ห้ามส่งออกของเสียมายังประเทศกำลังพัฒนาที่ให้สัตยาบันแก่ภาคแก้ไขดังกล่าว เพื่อให้เกิดการคุ้มครองประเทศกำลังพัฒนาจากการรับภาระของเสียอันตรายมากขึ้น โดยระบุห้าม ไม่ให้ส่งออกหรือเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดนของประเทศที่ให้สัตยาบันในภาคแก้ไขนี้อย่างเด็ดขาด
กระทั่ง เดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่ 103 ที่ให้สัตยาบันแก่ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล ส่งผลให้ข้อกำหนดของภาคแก้ไขดังกล่าวต้องเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 7 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป
อ้างอิง:
รายงานข่าวโดย The Active by ThaiPBS วันที่ 8 มิถุนายน 2566
รีโพสต์จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) วันที่ 7 มิถุนายน 2566<https://www.facebook.com/EarthEcoAlert/posts/632602208899370?ref=embed_post >
Comments