top of page

"สมาร์ท ปาร์ค" ต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในประเทศไทย





การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงได้มีการสนับสนุนให้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ให้เป็นต้นแบบของนิคมอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Industrial Estate)


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 กนอ. ได้เข้าตรวจความคืบหน้าโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) และคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ในปี 2567


โครงการนำร่องนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,400 ไร่ (224 เฮกเตอร์) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ซึ่งกนอ.ได้ประกาศเจตนารมณ์ให้เป็นนิคมฯ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน บนแนวคิดที่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบสื่อสาร ระบบขนส่ง การจัดการพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ



นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ประกอบด้วยแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเชิงนิเวศ 8 ด้าน คือ

  • สมาร์ทด้านทำเลที่ตั้ง (Smart Location)

ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมของ EEC ล้อมรอบด้วยระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

  • สมาร์ทด้านพลังงาน (Smart Energy)

ระบบไฟฟ้าแบบสมาร์ทกริดนำส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด เช่น Floating Solar, Solar Rooftop และพลังงานไฮโดรเจน

  • สมาร์ทด้านการขนส่ง (Smart Transportation)

ระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาด

  • สมาร์ทด้านกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Smart Industrial New-S curve )

รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ (Aviation and Logistic) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical device)

  • สมาร์ทด้านสิ่งแวดล้อม Smart Environment

พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 238.32 ไร่ (17% ของพื้นที่โครงการ)

  • สมาร์ทด้านอาคารประหยัดพลังงาน (Smart Building)

อาคารลดการใช้พลังงานตามมาตรฐานอาคารเขียวของสถาบันอาคารเขียวไทย (TREES) ประเภทอาคารสร้างใหม่

  • สมาร์ทด้านการสื่อสารไร้สาย (Smart IT)

รองรับระบบสื่อสารทุกโครงข่าย รองรับการจัดตั้ง Data Center รองรับการนำ IOTs มาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่และกระบวนการผลิต

  • สมาร์ทด้านความปลอดภัย (Smart Security)

ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) พร้อมด้วยระบบ CCTV กระจายตามจุดต่างๆ ของโครงการ

  • สมาร์ทด้านการใช้ชีวิต (Smart Life)

จัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่ทันสมัย



กนอ. คาดการณ์ว่าการดำเนินการของนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์คนี้ จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะดำเนินการ ได้ถึง 72% (1,014,000 ตัน/ปี) เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมแบบเดิม


ที่มา:

Comments


bottom of page