top of page

กระทรวงมหาดไทยสร้างโอกาสในตลาดคาร์บอนเครดิตให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อัปเดตเมื่อ 21 พ.ย. 2565

กระทรวงมหาดไทย (มท.) สั่งผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำเนินการตาม “ประกาศมท. เรื่อง การจัดการมูลฝอย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อกำหนดขั้นตอนการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตที่รับรองจากโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)



ตามที่มท. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ‘จังหวัดสะอาด’ ประจำปี พ.ศ. 2565 และกำหนดให้ทุกครัวเรือน (ร้อยละ 100) ต้องมีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนเป็นหนึ่งในเป้าหมายภายใต้แผนจังหวัดสะอาดนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ให้อปท. ในทุกจังหวัดสำรวจและรายงานข้อมูลถังขยะเปียกในระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยของอปท. (ระบบของสถ.) เพื่อให้อปท. หรือสถ.* นำข้อมูลไปประกอบการรับรองคาร์บอนเครดิตในลำดับต่อไป


ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ปัจจุบันมีครัวเรือนที่จัดทำถังขยะเปียกแล้ว 2,716,651 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากร 9,175,452 คน ปริมาณขยะเปียก 843,958.07 ตัน/ปี และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ 122,711.50 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี ทั้งนี้มท. อยู่ระหว่างการเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดจัดทำถังขยะเปียกให้ได้ร้อยละ 100 ภายในสิ้นเดือน พ.ย. 2565


มท. ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเตรียมรับการทวนสอบภายใต้โครงการถังขยะเปียกของอปท. ประเทศไทย (Internal Audit) ในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ 2 จังหวัดที่มีถังขยะเปียกร้อยละ 100 คือ สมุทรสงครามและลำพูน และ 2 ใน 3 จังหวัดที่มีถังขยะเปียกร้อยละ 80-99.99 คือ อำนาจเจริญและเลย โดยให้มีการแต่งตั้งทีมปฏิบัติการเตรียมความพร้อมสำหรับการทวนสอบระดับอำเภอ ลงพื้นที่และรายงานให้มท. ทราบในทุกเดือน


* ทั้งนี้ จากประกาศมท. ฉบับที่ 2 (2565) โครงการที่สามารถขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน: อบก.) อาจเป็นโครงการที่อปท. ดำเนินการเอง หรือสถ. อาจดำเนินการแทนอปท. ได้ และอปท. สามารถจัดตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก ได้ตามระเบียบกระทรวง มท. ว่าด้วยวิธีการงบประมาณของ อปท. และระเบียบที่เกี่ยวข้อง


ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า สถ. ได้ทำการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากโครงการถังขยะเปียกภายใต้แผนจังหวัดสะอาดเพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับอปท. ทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปในการขายคาร์บอนเครดิต อปท. จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของการซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยเงินที่ได้รับจะถือเป็นรายได้ของอปท.


Comments


bottom of page